มีนาคม 9, 2022

Calibration-Bangpakong.Com

สอบเทียบเครื่องมือช่าง บางปะกง

เลื่อยลันดา มีส่วนประกอบสำคัญอะไรบ้าง และเหมาะกับงานประเภทไหน

1 min read
เลื่อยลันดา

เลื่อยลันดา เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือช่างที่จะต้องมีติดตัว และเป็นเครื่องมือช่างที่ทุกบ้านต้องมี เพราะเลื่อยชนิดนี้เป็นเครื่องมือตัดที่มีใบมีดเหล็กเทมเปอร์ (tempered-steel ) ที่มีฟันแหลม เนื่องจากเหล็กมีราคาถูกขึ้นรูปง่ายและแข็งแรงมากจึงมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับเลื่อยส่วนใหญ่ ที่สำคัญยังเป็นอุปกรณ์เครื่องมือช่าง ที่ช่างทุกคนต้องมีติดตัว และวันนี้เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับเลื่อยชนิดนี้กันว่ามีส่วนประกอบสำคัญอย่างไรบ้าง และเหมาะกับงานประเภทไหน พร้อมแล้วเราไปดูพร้อม ๆ กันได้เลย

ส่วนประกอบของเลื่อยลันดา

  • มือจับ เป็นจุดที่เราจับในการใช้งานก่อนนั้นทำมาจากไม้ แต่ตอนนี้ทำจากวัสดุหลากหลายประเภท โดยมีใบเลื่อยจะเสียบแล้วยึดด้วยสกรู
  • ส้นเลื่อย คือ จุดที่กว้างที่สุดขอใบเลื่อยและยึดติดกับมือจับ
  • ปลายเลื่อย คือ จุดที่แคบที่สุดขอใบเลื่อย
  • สันเลื่อย คือ จุดด้านบนสุดของใบเลื่อย (ตรงข้ามกับฟันเลื่อย)
  • ฟันเลื่อย คือ จุดที่จะตัดไม้ เป็นแหลมเล็ก ๆ อยู่ระหว่างสันกับปลายเลื่อย ตรงข้ามกับสันเลื่อย

เลื่อยลันดาเหมาะกับงานประเภทไหน

เลื่อยลันดา เป็นเลื่อยที่แทบทุกบ้านต้องมีติดบ้านไว้ใช้สอย ด้วยลักษณะของเลื่อยที่มีลักษณะเป็นแผ่น โคนใหญ่ปลายเรียว และมีซี่ฟันที่เรียงกันเป็นระเบียบตลอดความยาวของใบเลื่อย และมีมือจับ จึงทำให้เหมาะกับงานช่างไม้ และงานช่างก่อสร้าง โดยใช้สำหรับเลื่อยตัดซอยแปรรูปไม้ได้อย่างสะดวกสบาย ส่วนใหญ่แล้วเลื่อยลันดาจะมีความยาวให้เลือกใช้ตั้งแต่ 16-24 นิ้ว ตามความเหมาะสม เช่น

  • เลื่อยลันดาชนิดตัด มีความถี่ของฟันประมาณ 8-12 ซี่ ใช้สำหรับไม้ตามขวางของเสี้ยนไม้
  • เลื่อยลันดาชนิดโกรก ใช้สำหรับโกรกหรือผ่าไม้ ความเอียงของฟันเลื่อยจะมีองศาที่เอียงมากกว่าเลื่อยตัด มีจำนวนฟันประมาณ 5-8 ซี่

วิธีการใช้เลื่อยลันดาเพื่อเลื่อยไม้ให้ตรงตามความต้องการ

  • ควรใช้ดินสอขีดเป็นเส้นนำสายตาก่อนลงมือเลื่อยไม้
  • ควรวางไม้ส่วนที่ขีดเส้นนำสายตาให้ห่างจากขอบโต๊ะที่รอง ประมาณ 3 นิ้ว เพื่อที่เวลาเลื่อยแล้วจะไม่เลื่อยไปติดโต๊ะที่รอง
  • ใช้นิ้วหัวแม่มือข้างที่ไม่ได้จับเลื่อย ช่วยประคองนำใบเลื่อย เพื่อให้ใบเลื่อยนิ่ง ไม่ส่าย หรือพลิกไปมา เมื่อเลื่อยไม้เข้าไปจนลึกในระดับหนึ่งแล้ว ก็สามารถเอานิ้วที่ใช้ประคองออกได้
  • เมื่อจรดใบเลื่อยลงตรงจุดที่จะเลื่อยแล้ว เริ่มดึงเลื่อยขึ้นเข้ามาหาตัวโดยไม่ต้องออกแรงมาก เมื่อกดใบเลื่อยลงถึงออกแรง เพื่อให้ใบเลื่อยกินเข้าไปในเนื้อไม้ที่จะเลื่อย
  • ชักเลื่อยขึ้นลง โดยไม่จำเป็นต้องออกแรงมากจนเกินไปนัก เลื่อยที่ฟันคม ๆ จะทำหน้าที่ตัดเนื้อไม้ให้เอง
  • การเลื่อยไม้ที่มีความหนามาก ๆ เมื่อเลื่อยไปสักระยะหนึ่งใบเลื่อยจะติด เนื่องจากถูกไม้บีบ สามารถเปิดรอยเลื่อยให้กว้างขึ้น โดยการใช้มือกดปลายไม้อีกด้านหนึ่งให้หักลงเล็กน้อย หรืออาจจะใช้ลิ่มหรือวัตถุแบน ๆ มาตอกแทรกรอยที่เลื่อยไว้ก็ได้
  • หากขณะที่เลื่อยไม้อยู่ เลื่อยเบนออกนอกแนวเส้นที่ขีดไว้ควรยกเลื่อยออก แล้วเริ่มเลื่อยใหม่ตรงจุดที่เริ่มเบนออกของรอยเลื่อย วิธีนี้จะทำให้กลับมาเลื่อยไม้ได้ตรงแนวง่ายกว่าการเลื่อยไม้ไปเรื่อย ๆ แล้วพยายามบิดใบเลื่อยเลี้ยวให้มาตรงแนว
  • หากใบเลื่อยขาดหรือหักในขณะที่กำลังเลื่อยไม้อยู่ เมื่อเปลี่ยนใบเลื่อยใหม่แล้วควรเลื่อยไม้ในตำแหน่งใหม่ให้ไปชนตำแหน่งเดิมที่ค้างไว้ ไม่ควรเลื่อยต่อจากตำแหน่งเดิมเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตรงจุดที่ใบเลื่อยหัก

การดูแลรักษาเลื่อยหลังการใช้งาน

  • ขณะเลื่อยอย่าออกแรงกดใบเลื่อยมากเกินไป เพราะจะทำให้ใบและฟันเลื่อยบิดเบี้ยว และไม่ควรใช้เลื่อยผิดประเภท เช่น นำเลื่อยลันดาไปตัดแผ่นไม้ที่มีตะปูฝังอยู่ เพราะจะทำให้ฟันเลื่อยเสียหายได้ กรณีนี้ควรถอนตะปูออกก่อน
  • เลื่อยที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ควรทำความสะอาดด้วยการใช้ผ้าแห้งเช็ดเบา ๆ เพื่อเอาฝุ่นออกให้หมด และทาน้ำมันอเนกประสงค์เพื่อป้องกันสนิม (แต่อย่าให้ชุ่มมากเกินไป) และไม่ควรใช้น้ำยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด-ด่าง ในการทำความสะอาด จากนั้นเก็บเข้าแผงเครื่องมือ โดยเก็บให้พ้นมือเด็กด้วย
Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.